วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การบัญชีเบื้องต้น2

หน่วยที่ 3 การตีราคาสินค้าคงเหลือ
สินค้าคงเหลือ (Merchandise Inventory)
หมายถึง สินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อจำหน่ายตามลักษณะของกิจการ เช่น กิจการที่จำหน่ายรถยนต์ ก็จะแสดงรถยนต์ที่เตรียมไว้ขายเป็นสินค้าคงเหลือในงบดุล


วิธีการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ
เมื่อกิจการมีการจำหน่ายสินค้าระหว่างปี จะมีการโอนสินค้าที่ขายได้เป็นต้นทุนในการขายสินค้า เพื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการขายสินค้า ส่วนสินค้าที่ยังขายไม่ได้ก็จะถูกแสดงเป็นสินทรัพย์ในงบดุล วิธีการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ มี 2 วิธี ดังนี้
1. การบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบต่อเนื่อง (Perpetual Inventory System)
วิธีนี้สามารถทราบยอดสินค้าคงเหลือได้จากยอดคงเหลือในบัญชีสินค้า ณ วันใดวันหนึ่ง เนื่องจากกิจการจะบันทึกรายการต่างที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือไว้ในบัญชีสินค้า และบันทึกราคาทุนของสินค้าที่ขายไว้ในบัญชีต้นทุนขาย โดยที่กิจการจะมีการจัดทำ “บัตรสินค้า (Stock Card)” เพื่อใช้ในการบันทึกรายการซื้อ ขาย ส่งคืนและรับคืนสินค้า ซึ่งจะทำให้ทราบต้นทุนสินค้าที่ขาย และมูลค่าคงเหลือของสินค้า โดยไม่ต้องมีการตรวจนับสินค้า
2. การบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบสิ้นงวด (Periodic Inventory System)
วิธีนี้กิจการจะทราบยอดสินค้าคงเหลือ ณ วันใดวันหนึ่ง หรือ ณ วันสิ้นงวดบัญชีได้โดยการตรวจนับตัวสินค้า และทำการตีราคาสินค้า แต่ไม่อาจทราบยอดคงเหลือได้จากสมุดบัญชี เพราะการบันทึกบัญชีตามวิธีนี้ไม่มีการเปิดบัญชีสินค้าและไม่มีการจัดทำบัตรสินค้า วิธีนี้จึงเหมาะกับสินค้าที่ไม่สะดวกที่จะคำนวณต้นทุนขายทุกครั้งที่มีการขายสินค้าจึงไม่มีการบันทึกต้นทุนขาย และลดยอดสินค้าคงเหลือเมื่อมีการขายสินค้า ต้องรอจนถึงวันสิ้นงวดบัญชีจึงจะทำการตรวจนับสินค้า และคำนวณมูลค่าคงเหลือในวันสิ้นงวดบัญชี ผลต่างระหว่างสินค้าที่เหลืออยู่กับสินค้าที่มีไว้เพื่อขาย ก็จะเป็นต้นทุนในการขายประจำงวดนั้น

การคำนวณต้นทุนขาย และสินค้าคงเหลือ
การคำนวณต้นทุนขาย และสินค้าคงเหลือมีวิธีการคำนวณ 4 วิธี ดังนี
1. วิธีเข้าก่อน-ออกก่อน (First –in, First-out)
วิธีนี้ถือว่าสินค้าที่ซื้อเข้ามาก่อนถูกขายออกไปก่อน ดังนั้นสินค้าที่เหลืออยู่ปลายงวดจึงเป็นสินค้าที่ซื้อครั้งหลัง
2. วิธีเข้าหลัง-ออกก่อน (Last-in, First-out)
วิธีนี้ถือว่าสินค้าที่ซื้อเข้ามาล่าสุดถูกขายออกไปก่อน ดังนั้นสินค้าที่เหลืออยู่ปลายงวดจึงเป็นสินค้าที่ซื้อครั้งแรก
3. วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average)
วิธีนี้ถือจะทำการถัวเฉลี่ยราคาสินค้าที่ซื้อเข้ามาให้เป็นราคาเดียวกัน
4. วิธีเฉพาะเจาะจง (Specific)
วิธีนี้กิจการสามารถระบุได้ว่าการขายสินค้าในแต่ละครั้ง เป็นการขายสินค้าที่มาครั้งใด

หากกิจการใช้วิธี Perpetual Inventory System กิจการจะต้องมีการคำนวณราคาทุนของสินค้าคงเหลือและต้นทุนขายทุกครั้งที่มีการซื้อขายสินค้าคงเหลือ

สรุป
สินค้าคงเหลือ หมายถึง สินทรัพย์ที่กิจการมีไว้เพื่อจำหน่ายตามลักษณะของกิจการ เช่น กิจการที่จำหน่ายรถยนต์ ก็จะแสดงรถยนต์ที่เตรียมไว้ขายเป็นสินค้าคงเหลือในงบดุล
การบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือมี 2 วิธี คือ
การบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบต่อเนื่อง (Perpetual Inventory System) วิธีนี้สามารถทราบยอดสินค้าคงเหลือได้จากยอดคงเหลือในบัญชีสินค้า ณ วันใดวันหนึ่ง เนื่องจากกิจการจะบันทึกรายการต่างที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงเหลือไว้ในบัญชีสินค้า และ
การบันทึกบัญชีสินค้าคงเหลือแบบสิ้นงวด (Periodic Inventory System) วิธีนี้กิจการจะทราบยอดสินค้าคงเหลือ ณ วันใดวันหนึ่ง หรือ ณ วันสิ้นงวดบัญชีได้โดยการตรวจนับตัวสินค้า และทำการตีราคาสินค้า แต่ไม่อาจทราบยอดคงเหลือได้จากสมุดบัญชี
การตีราคาสินค้าคงเหลือ ณ วันสิ้นงวด มี 4 วิธี คือ วิธีเข้าก่อน – ออกก่อน (First-in, First-out) วิธีเข้าหลังออกก่อน (Last-in, First-out) วิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weighted Average) และวิธีเฉพาะเจาะจง (Specific)

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากให้อาจารย์อธิบายการทำแบบฝึกหัดวิชาหลักการบัญชีขั้นต้น2ให้หนูหน่อยค่ะ

    ตอบลบ